ประวัติตลาดบางหลวง

       ชุมชนตลาดบางหลวง  เกิดจากการรวมกลุ่มของคนจีนที่อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำนครชัยศรี และพัฒนาจนกลายเป็น “ชุมชน” ทั้งนี้ในอดีตการสัญจรมักใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา แทน มีการสร้างถนน รถยนต์ก็มาแทนที่เรือ ทำให้การค้าขายทางน้ำเริ่มซบเซาลง แต่การค้าขายของชาวบางหลวงก็ยังคงอยู่ ปัจจุบันตลาดแห่งนี้ยังคงสภาพบรรยากาศในอดีตไว้ ทั้งรูปแบบวิถีชีวิต การค้าขาย ประเพณีวัฒนธรรม ที่ผสมกลมกลืนในความเป็นไทย-จีน ซึ่งสืบทอดกันมากว่า 100 ปี เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวบางหลวง 

" บ้านเก่าเหล่าเต๊งไม้ "

      ชาวจีนได้สร้างห้องแถวไม้สองชั้น หันหน้าเข้าหากัน ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมทำการค้าขายในบริเวณบางหลวง ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกว่า ๑๐๐ ปี เริ่มก่อตั้งประมาณ ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ที่ริมน้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรี ส่วนยาวที่สุดของตลาดห้องแถวไม้สองชั้น นับจากท่ารถโดยสารประจำทาง ลึกเข้าไปจนถึงแพริมน้ำ มีจำนวน ๑๓๐ ห้อง สภาพปัจจุบันยังมีสภาพตลาดเก่าที่สมบูรณ์ 

ตลาดบางหลวงเป็นแหล่งค้าขายทางน้ำที่ใหญ่และสำคัญของอำเภอบางเลน มีวิกหนัง มีร้านค้ามากมาย เช่น ร้ายยาจีนที่โด่งดังในอดีต ร้านทองแซ่ฮั่ว ร้านอ่วยแซโอสถ ร้านบัดกรีโลหะ โรงตีเหล็ก ร้านเจี่ยซุ่นกี่ร้านกาแฟโบราณประจำชุมชน รวมถึงอาหารท้องถิ่นของคนจีนที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน เช่น ขนมชุนเปี๊ยะ แต่เมื่อเส้นทางคมนาคมเปลั้่ยนแปลง การเดินทางทางบกสะดวกสบายขึ้น ส่งผลให้ตลาดบางหลวงเงียบเหงา วิกหนังและร้านค้าหลายร้านปิดกิจการลง

" โล้สำเภา สู่แม่น้ำท่าจีน "

        ในสมัยก่อนชาวจีน ได้อพยพหนี้ภัยสงครามและความแร้นแค้นจากเมืองจีนมาสู่ไทย ซึ่งมีการเดินทางมาเป็นกลุ่มๆ โดยการโล้สำเภามาเป็นแรมเดือนมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และล่องเรือตามแม่น้ำสายต่างๆ เพื่อหาสถานที่ในการตั้งถิ่นฐาน สถานที่ทำมาหากิน ชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่มาจากจังหวัดซัวเถา ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้งได้ตัดสินใจล่องเรือต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งสู่แม่น้ำท่าจีน และลงหลักปักฐานในพื้นที่บริเวณตำบลบางหลวง อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม 


" เสียงเพลงดนตรีจีนริมแม่น้ำท่าจีน "

      ในสมัยก่อนคนจีนที่อยู่บริเวณตำบลบางหลวงจะมารวมตัวกันที่ตลาดและเล่นดนตรี จิบน้ำชาเพื่อคลายความเหงาที่จากบ้านมาไกล มีการถามสารทุกข์สุขกัน แต่ภายหลังคนจีนเริ่มสูญหาย และไม่มีการรวมกลุ่มกัน
จนเมื่อปี ๒๕๔๗ มีคนพบเจอเครื่องดนตรีจีนในโรงเจบ้วนฮกติ๊ง กลุ่มคนรักดนตรีจีนจึงเริ่มฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง โดยมีการจัดตั้งชมรมนักดนตรีจีน ซึ่งเป็นแกนนำในการอนุรักษ์การเล่นโน้ตแบบดั้งเดิม และมีการอนุรักษ์  " ตัวโน้ตจีนโบราณอายุกว่า ๔,๐๐๐ ปี "

" เหล่าพันธุ์มังกรกับอาชีพในบางหลวง "

     ชาวจีนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในบริเวณตำบลบางหลวง ได้มีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน ซึ่งมีการอาชีพหลัก ๔ ประเภท คือ การค้าขาย การทำไร่ การเลี้ยงหมูและอาชีพกรรมกร ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าขายได้มีการรวมตัวกันสร้างตลาดเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมการซื้อขายสินค้า บริเวณริมแม่น้ำ ส่วนคนจีนที่ทำสวนและเลี้ยงหมูได้มีการตั้งบ้านเรือนรอบ ๆ ตลาดบางหลวง นอก จากนั้นได้มีการตั้งโรงสี และโรงฝิ่น อยู่ในบริเวณตำบลบางหลวงอีกด้วย

     การหลอมหลวมกันระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีนมีมานานกว่า ๑๐๐ ปี จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตลาดบางหลวงมีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายอย่างตลาดในชนบท รำลึกถึงแผ่นดินจีนบ้านเกิดของบรรพบุรุษและรู้คุณแผ่นดินไทยทีอยู่อาศัย น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการดำเนินชีวิต และมีการรวมตัวกันของลูกหลานพันธุ์มังกรที่มีจำนวนมากกว่าร้อยแซ่ในบริเวณตลาดบางหลวง เพื่ออนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นที่ผสมกลมกลืนกันระหว่างไทยและจีนที่สืบทอดมาได้อย่างดีจนได้รับสมญานามว่า 

" ดินแดนมังกรแห่งวัฒนธรรมไทย จีน ขนมหวาน อาหารอร่อย "

แหล่งอ้างอิง

วิกิชุมชน ตลาดบางหลวง จาก https://wikicommunity.sac.or.th/community/286